歴史

御船山楽園

สิ่งที่นาเบชิมะ ชิเงโยชิ ผู้ปกครองแห่งยุคเอโดะ
ได้สร้างไว้ในพื้นที่ 5 แสนตารางเมตรนี้
นั่นก็คือ สวนมิฟุเนะยามะราคุเอ็น

ในยุคเซ็นโงคุ ดินแดนทาเคโอะแห่งนี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลโกะโตที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภูมิภาคคันโตในช่วงศตวรรษที่ 12 ต่อมาในยุคเอโดะตอนต้น อำนาจการปกครองในจังหวัดฮิเซ็น (จังหวัดซางะในปัจจุบัน) ได้เปลี่ยนมือจากตระกูลริวโซจิไปเป็นตระกูลนาเบชิมะ ตระกูลโกะโตได้กลายเป็นข้ารับใช้ของตระกูลดังกล่าวและได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นนาเบชิมะ ทำให้กลายมาเป็นผู้รับใช้ตระกูลนาเบชิมะในฐานะข้ารับใช้ "ตระกูลเดียวกัน" และเป็นผู้ปกครองดินแดนอิสระทาเคโอะในแคว้นซางะในเวลาเดียวกัน

นาเบชิมะ ชิเงโยชิ (1800-1862) ผู้ปกครองดินแดนทาเคโอะคนที่ 28 ถือเป็นบุคคลในตระกูลนาเบชิมะแห่งทาเคโอะที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันมากที่สุด เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงการปิดประเทศ เขาให้ความสนใจในการทหารและวิทยาการของชาติตะวันตกเป็นอันดับแรก โดยมุ่งมั่นเผยแพร่ศาสตร์ต่างๆของตะวันตกจนประสบความสำเร็จในการสร้างปืนใหญ่และเรือกลไฟในแบบตะวันตก ถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อนาเบชิมะ นาโอมาสะ (1814-1871) ผู้ปกครองแคว้นซางะคนที่ 10 ซึ่งเป็นหนึ่งใน "เจ็ดนักปราชญ์แห่งซางะ" ในเวลาต่อมา

ปราสาทของผู้ปกครองดินแดนทาเคโอะคือปราสาทสึคาซากิ (ปราสาททาเคโอะ) ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทาเคโอะ โดยที่ด้านหลังจะมีภูเขามิฟุเนะสูง 210 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทาเคโอะที่มีตำนานมาจากเรือพระที่นั่ง (มิฟุเนะ) ของสมเด็จพระจักรพรรดินีจินงูที่เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากแคว้นชิลลาในเกาหลีตั้งตระหง่านอยู่ เบื้องล่างจากหน้าผาของภูเขาลูกนี้ จะมีสวนมิฟุเนะยามะ (สวนฮางิโนะโอะโซโนะเดิม) ที่ชิเงโยชิใช้เวลาในการสร้างประมาณ 3 ปีจึงเป็นอันเสร็จในปี 1845 (ปีโคกะที่ 2) เป็นสวนญี่ปุ่นแบบจิเซ็นไคยูชิกิที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 150,000 สึโบะ

ชิเงโยชิ ผู้รับผิดชอบในการสร้างสวนแห่งนี้ ได้เชิญช่างวาดภาพสำนักคาโน่ซึ่งเป็นสำนักศิลป์ที่สร้างผลงานให้แก่รัฐบาลโชกุนตั้งแต่ยุคมุโรมาจิจนถึงยุคเอโดะจากเกียวโตเพื่อวาดภาพร่างของสวนในแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งตัวเขาเองก็เรียนการวาดภาพกับสำนักคาโน่จนมีภาพวาดมากมายในนามปากกาว่า "ไคชุนไซ" ทำให้ได้ออกมาเป็นสวนญี่ปุ่นที่มีความปราณีตเหมือนกับที่วาดในแบบไม่มีผิดเลย

鍋島茂義

Nabeshima Shigeyoshi

นาเบชิมะ ชิเงโยชิ

ยุคเอโดะตอนปลาย
ผู้ปกครองดินแดนทาเคโอะแห่งแคว้นซางะคนที่ 28

ในช่วงครึ่งแรกของชีวิต นาเบชิมะ ชิเงโยชิเป็นผู้บริหาร (มีหน้าที่บริหารกิจการของแคว้น) ของแคว้นซางะโดยรับผิดชอบในการปฏิรูปการคลังของแคว้น แต่ต่อมาในปีเท็มโปที่ 3 (1832) เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งจากการวิพากษ์วิจารณ์นาเบชิมะ นารินาโอะ ผู้ปกครองแคว้นซางะคนก่อนเกี่ยวกับการใช้เงินในการเดินทางไปยังเอโดะอย่างฟุ่มเฟือย

ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต ชิเงโยชิได้กลับไปยังดินแดนทาเคโอะในปีเท็มโปที่ 5 (1834) โดยเป็นผู้ปกครองในญี่ปุ่นยุคศักดินาคนแรกๆที่ศึกษาการผลิตปืนใหญ่และวิทยาการของชาติตะวันตกโดยศึกษาเล่าเรียนกับทาคาชิมะ ชูฮัน และถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อนาเบชิมะ นาโอมาสะ ผู้ปกครองแคว้นซางะคนต่อมาในการพัฒนาแสนยานุภาพการทหารและอำนาจทางวิทยาการในขั้นสูงของแคว้นซางะในยุคเอโดะตอนปลาย

ต่อมาในปีเท็มโปที่ 10 (1839) ชิเงโยชิได้มอบตำแหน่งผู้ปกครองให้แก่นาเบชิมะ ชิเงอากิ ผู้เป็นทายาทในวัย 7 ปีก่อนจะเกษียณราชการ

ภูเขามิฟุเนะ
สัญลักษณ์ของทาเคโอะ

ภูเขามิฟุเนะ สัญลักษณ์ของเมืองทาเคโอะ จังหวัดซางะ มีความสูง 210 เมตร สันนิษฐานว่าชื่อของภูเขาลูกนี้ได้มาจากคำว่า "มิฟุเนะ" ที่หมายถึงเรือพระที่นั่งของจักรพรรดินีจินงูที่เสด็จพระราชดำเนินกลับจากแคว้นชิลลาในเกาหลีเมื่อโบราณกาล

ภูเขาลูกนี้มีชื่อปรากฏอยู่ในเพลงโรงเรียนมาอย่างยาวนาน ชาวเมืองทาเคโอะส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ภูเขามิฟุเนะยามะที่เงียบสงบมีความงดงามที่เราสามารถสัมผัสได้